
“สุพัฒนพงษ์” ปักธงเป้า 4 ปีไทยต้องมีรถ EV 2.25 แสนคัน ด้าน “ปตท.” MOU โครงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย กับ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป ไต้หวัน ดันเป็นโรงงานกลางรับจ้างผลิตรถ EV ทุกยี่ห้อ ขณะที่ “พลังงานบริสุทธิ์ EA” พัฒนาระบบชาร์จไฟฟ้าได้ 80% ใช้เวลา 15 นาที วิ่งได้ 250 กม. จ่อลุยยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะสเต็ปต่อไป
วันที่ 29 มิถุนายน 2564 นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานสัมมนา “ยานยนต์ไฟฟ้า” จุดเปลี่ยนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดโอกาสใหม่ทางธุรกิจ จัดโดย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ตั้ง คณะกรรมการนโยายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้เปลี่ยนการใช้รถยนต์สันดาปมาเป็นรถยนต์ EV รวมถึงลดปัญหาแต่สิ่งแวดล้อม
สำหรับเป้าหมายระยะสั้น 4 ปี ข้างหน้า จะต้องผลักดันให้มีรถยนต์ไฟฟ้า 225,000 คัน ภายในปี 2568 คิดเป็น 10% ของกำลังการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในปัจจุบัน จากนโยบายดังกล่าวเชื่อว่า จะทำให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตามมา อย่างการลงทุนเรื่องของแบตเตอรรี่ EV และในอนาคตจะรวมไปถึงรถยนต์ไร้คนขับ
ในระหว่างนี้ จำเป็นต้องความพร้อมด้านพลังงานไฟฟ้า โดยเตรียมหารือกับ 3 การไฟฟ้า ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าให้เป็นสมาร์ดกริดรองรับ ทั้งนี้ได้มีการกำหนดราคาไฟฟ้าในการประจุไฟฟ้าอยู่ที่ 2.60 บาท/หน่วย
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT กล่าวในงานเดียวกันว่า รัฐได้กำหนดเป้าหมายการผลิตรถ EV 4 ล้อ ในปี 2568 อยู่ที่ 225,000 คัน และปี 2573 อยู่ที่ 725,000 คัน รถ 2 ล้อ ปี 2573 จะผลิต 675,000 คัน และรถบัส ปี 2573 จะผลิต 34,000 คัน คิดเป็น 50% ของจำนวนรถบัสที่ผลิตออกมา
ขณะที่ ปตท. เองได้มุ่งไปใน 2 เทรนด์หลัก คือ GO GREEN และ GO ELECTRIC และปรับเป้าหมายพอร์ตการลงทุนในอนาคตที่มุ่งเน้นการขยายการลงทุนในพลังงานรูปแบบใหม่ และธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตในอนาคต อย่างเรื่องของแบตเตอรี่ EV ที่มีทางบริษัทลูก GPSC ลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Unit) แบตเตอรี่ G-Cell
นอกจากนี้ ปตท. ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย กับ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry Co., Ltd.) หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) ในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual MOU Signing Ceremony) จากประเทศไต้หวัน เพื่อศึกษาโอกาสในการพัฒนาฐานการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย ที่จะเป็นโรงงานกลางตั้งในไทยและสามารถรับจ้างผลิตรถ EV ได้หลายยี่ห้อ เบื้องต้นมองเป้าหมายกำลังการผลิตรถยนต์ 4 ล้อ อยู่ที่ 1 แสนคัน/ปี สำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าในปั๊มน้ำมัน ทาง OR ได้จัดตั้งแล้ว 30 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 100 แห่งในสิ้นปีนี้
ทางด้าน นายสมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวในงานสัมมนาเช่นเดียวกัน ว่า บริษัทได้พัฒนาระบบการชาร์จ EV ให้เร็วขึ้นและการใช้งานของแบตเตอรี่ได้นานขึ้น ปัจจุบันสามารถชาร์จไฟฟ้าได้ 80% ใช้เวลา 15 นาที และวิ่งได้ 250 กม. และภายในเดือน ก.ค. เตรียมส่งมอบรถไฟฟ้าให้ลูกค้าที่ได้มีการเซ็นต์สัญญาแล้ว 100 คัน สำหรับสถานีชาร์จรถ EV ตั้งเป้าหมายขยายให้ได้ 1,000 สถานี ซึ่งปัจจุบันมี 417 สถานี มีหัวชาร์จ 1,633 หัว เป็นระบบชาร์จเร็วถึง 571 หัว และในอนาคตมีแผนที่จะมุ่งเป้าไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะด้วยเช่นกัน
รถ EV คึกคัก ปตท. MOU ฟ็อกซ์คอนน์ ด้าน EA จ่อลุยยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ - ประชาชาติธุรกิจ
Read More
No comments:
Post a Comment